วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561

066Putita : การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคแม่แบบ (Modeling Technique)



การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคแม่แบบ (Modeling Technique)

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตย์ (2553: 239-246) ได้กล่าวไว้ว่า
ความหมาย
          เทคนิคแม่แบบ เป็นกลวิธีสร้างหรือสอนพฤติกรรมใหม่ โดยให้ผู้ประสงค์จะเรียนแบบสังเกตพฤติกรรมของแม่แบบที่เขาสนใจ (Bandura, Rossand Ross 1963: 99-108) และ Patterson (1973: 138-139) สรุปว่าการเรียนรู้ส่วนใหญ่ของเด็กเกิดจาก การกระทำตามผู้อื่นเด็กจะเรียนรู้จากแม่แบบ โดยแม่แบบจะทำหน้าที่เป็นสิ่งเร้าให้ ผู้เรียนสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมที่เป็นเป้าหมายซึ่งกระบวนการเรียนรู้โดยการสังเกตเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจมโนทัศน์ที่ซับซ้อนหรือยากๆ ได้ดีและรวดเร็ว

ทฤษฎี/แนวคิด
          หลักการเรียนรู้จากตัวแบบ
          วัชรี ทรัพย์มี (2525: 212-213) สรุปหลักการเรียนรู้จากตัวแบบไว้ดังนี้
          1. ให้ผู้สังเกตได้เรียนรู้พฤติกรรมใหม่จากการสังเกตพฤติกรรมของแม่แบบซึ่งจะช่วยให้ผู้สังเกตได้เรียนรู้ทักษะในการก่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่
          2. ผู้สังเกตอาจจะรับรู้วิธีการที่จะนำมาสู่พฤติกรรมที่พึงปรารถนามาก่อนแล้วแต่ยังไม่ได้ทำหรือคาดว่าจะทำไม่ได้ จากการสังเกตพฤติกรรมที่แม่แบบแสดง จะช่วยกระตุ้นให้ผู้สังเกตได้แสดงพฤติกรรมที่เรียนรู้มาแล้วนั้น
          3. แม่แบบจะต้องมีลักษณะที่น่าสนใจ เพื่อเป็นแรงจูงใจหรือส่งเสริมให้ผู้สังเกตเลียนแบบ
          4. หลังจากผู้สังเกตได้สังเกตพฤติกรรมของแม่แบบแล้ว ผู้สังเกตจะจดจำพฤติกรรมแม่แบบไว้ในความทรงจำ เพื่อนำไปแสดงพฤติกรรมในอนาคต
          5. หลังจากผู้สังเกตได้สังเกตพฤติกรรมของแม่แบบแล้ว ให้โอกาสผู้สังเกตได้ฝึกฝนพฤติกรรมนั้นและผู้ควบคุมจะเป็นผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้สังเกต

ชนิดของแม่แบบ
          Bandura (1977: 40-51) ได้แบ่งแม่แบบไว้เป็น 2 ชนิดคือ แม่แบบจากตัวจริงกับแม่แบบที่เป็ฯสัญลักษณ์ซึ่งอาจเป็นคำพูด เอกสาร หรือใช้ทัศนวัสดุ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ สไลด์ หรือวีดีโอเทป เป็นต้น

อิทธิพลของแม่แบบที่มีต่อผู้สังเกต
          Bandura (1977: 41-45) สรุปถึงอิทธิพลของแม่แบบที่มีผู้สังเกตดังนี้
          1. การสร้างพฤติกรรมใหม่ เมื่อผู้สังเกตได้เห็นการกระทำของแม่แบบซึ่งเป็นการกระทำที่ผู้สังเกตไปเคยพบเห็นมาก่อน ผู้สังเกตจะรวบรวมข้อมูลของการกระทำใหม่นี้ในรูปของสัญลักษณ์และถ่ายทอดออกมาเป็นพฤติกรรมใหม่
          2. การสร้างกฎเกณฑ์หรือหลักการใหม่ จะเกิดขึ้นในสภาพที่ผู้สังเกตเห็นการกระทำของแม่แบบในลักษณะต่างๆ เช่น การตัดสินใจ รูปแบบทางภาษา เป็นต้น จากนั้นผู้สังเกตจะทดสอบการกระทำตามแม่แบบลักษณะต่างๆ และถ้าการตอบสนองส่งผลทางบวก ผู้สังเกตจะรวบรวมรูปแบบลักษณะของแม่แบบในรูปแบบต่างๆ แล้วนำมาสร้างเป็นกฎเกณฑ์ใหม่หรือหลักการใหม่
          3. การสอนความคิดและพฤติกรรมการสร้างสรรค์ การมีแม่แบบจะช่วยสนับสนุน การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์เพราะเมื่อมนุษย์เห็นแม่แบบกระทำพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง มนุษย์อาจใช้ประสบการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ประกอบกับการกระทำของแม่แบบมาพัฒนาเป็นความคิดหรือพฤติกรรมใหม่ขึ้นมา
          4. การยับยั้งการกระทำและลดความหวั่นเกรง ที่จะกระทำการที่ได้เห็นแม่แบบถูกลงโทษ ผู้สังเกตมีแนวโน้มที่จะไม่กระทำตามแม่แบบนั้น และในทำนองเดียวกันถ้าได้เห็นแม่แบบทำพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องและไม่ห้ามปรามแล้วไม่มีผลกรรมใดๆ ตามมา ผู้สังเกตก็มีแนวโน้มที่จะกระทำตามแม่แบบ
          5. การส่งเสริมการกระทำ การมีแม่แบบจะมีอิทธิพลต่อการส่งเสริมการกระทำทั้งที่เป็นทางบวกและทางลบ ถ้าผู้สังเกตได้เห็นแม่แบบแสดงพฤติกรรมหนึ่งและได้รับรางวัลผู้สังเกตมีแนวโน้มที่จะกระทำตามมากขึ้น ในทำนองเดียวกันถ้าผู้สังเกตได้เห็นแม่แบบที่แสดงความก้าวร้าวและได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งดี ผู้สังเกตก็มีแนวโน้มกระทำตามมากขึ้น ดังนั้นการเสนอแม่แบบในสังคมจำเป็นต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจจะมีผลต่อการเพิ่มพฤติกรรมทางลบได้
          6. ทางด้านอารมณ์ การมีแม่แบบนอกจากจะส่งผลต่อการกระทำแล้ว ยังมีผลต่ออารมณ์ของผู้สังเกตให้รุนแรงเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้เกิดอารมณ์คล้อยตามไปด้วย
          7. การเอื้ออำนวยให้เกิดการกระทำตามแม่แบบ การกระทำที่ให้คนเห็นคุณค่าและมีความชื่นชอบอยู่เสมอ การกระทำของแม่แบบนั้นก็จะทำให้ผู้สังเกตทำได้โดยรวดเร็วและกระทำได้ง่าย นอกจากนี้เมื่อคนสามารถกระทำตามแม่แบบได้เร็ว จะทำให้เกิดการแผ่ขยายจากสังคมหนึ่งได้รวดเร็วด้วย

แนวทางการจัดการเรียนรู้
          แม่แบบที่มีประสิทธิภาพ
          แม่แบบที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ ความมีเกียรติ ความน่าเชื่อถือ มีลักษณะนิสัยใจคอที่กลุ่มยอมรับและมีลักษณะที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งผู้สังเกตใฝ่ฝันจะเป็นเช่นนั้น ซึ่ง ผ่องพรรณ เกิดพิทักษ์ (2536: 53) ได้เสนอวิธีการคัดเลือกแม่แบบที่มีประสิทธิภาพไว้ดังนี้
          1. แม่แบบที่คัดเลือกต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย เหมาะสมและเป็นตัวอย่างที่ดีมีความน่าเชื่อถือ
          2. แม่แบบและผู้เรียนแบบหรือผู้สังเกต ต้องมีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น อายุเท่าๆ กัน
          3. ลักษณะของกิจกรรมที่เลียนแบบ ควรจะเป็นกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน ยุ่งยาก เพราะจะทำให้เกิดการเลียนแบบได้ง่ายขึ้น

          สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเสนอแม่แบบนั้นสรุปได้ดังนี้ (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, 2536: 255-256)
          1. แม่แบบควรจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับผู้สังเกตทั้งในด้านเพศ เชื้อชาติ และทัศนคติ
          2. แม่แบบควรจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในสายตาของผู้สังเกต แต่ถ้ามีชื่อเสียงมากจนเกินไป ก็จะทำให้เขามีความรู้สึกว่าพฤติกรรมที่แม่แบบกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นจริงสำหรับเขาได้
          3. ระดับความสามารถของตัวแบบนั้น ควรจะมีระดับที่ใกล้เคียงกับผู้สังเกต เพราะถ้าใช้แม่แบบที่มีความสามารถสูงมาก ก็จะทำให้ผู้สังเกตคิดว่าเขาไม่น่าจะทำตามได้
          4. แม่แบบนั้นควรจะมีลักษณะที่เป็นกันเองและอบอุ่น
          5. แม่แบบเมื่อแสดงพฤติกรรมแล้ว ได้รับการเสริมแรง จะทำให้ได้รับความสนใจจากผู้สังเกตมากขึ้น

กระบวนการเรียนรู้ด้วยการสังเกต
          Bandura (1977: 22-29) กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้ด้วยการสังเกตว่ามีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการดังนี้
          1. ความสนใจ เป็นกระบวนการเรียนรู้ลักษณะสำคัญๆ ของแม่แบบไว้อย่างละเอียดโดยการสังเกตและสามารถสรุปรวบรวมสิ่งที่รับรู้มาได้อย่างเป็นขั้นตอน สิ่งที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการของความสนใจในการเรียนรู้ด้วยการสังเกตนี้มามาก เช่น ลักษณะของผู้สังเกตในด้านการรับรู้ การรวบรวม และการแปลความหมายของสิ่งที่ได้สังเกตอันเป็นผลจากประสบการณ์เดิมของผู้สังเกตลักษณะหรือการแสดงออกของแม่แบบที่แปลกหรือดึงดูด ความสนใจได้มากเพียงไร มีความชัดเจนหรือมีความซับซ้อนของแม่แบบมากน้อยแค่ไหน
          2. กระบวนการจำ เป็นกระบวนการของการจำอันเกิดจากการรวบรวมพฤติกรรมของแม่แบบที่สังเกตทุกครั้งการเก็บความทรงจำนี้จะกระทำในรูปสัญลักษณ์ นี้จะช่วยให้จำพฤติกรรมของแม่แบบได้แม้ว่าจะเห็นแม่แบบเพียงชั่วเวลาอันสั้น
          3. การแสดงออก เป็นกระบวนการของการดัดแปลงสัญลักษณ์ซึ่งเป็นแม่แบบพฤติกรรมเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อมนุษย์เรามีข้อมูลที่เป็นสัญลักษณ์อยู่ในความทรงจำแล้วจะมีการแสดงพฤติกรรมเหล่าเข้ามาภายหลังได้ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกครั้งแรกๆ อาจจะยังไม่ถูกต้องนัก เพียงแต่แสดงได้ใกล้เคียงกับพฤติกรรมแม่แบบเท่านั้น แล้วค่อยๆ ปรับแก้ไขพฤติกรรมของตนเองจนกว่าจะได้รับผลที่พึงพอใจ
          4. การจูงใจ เป็นกระบวนการที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความรู้ที่ได้รับมากับการแสดงออกในการเรียนรู้ทางสังคมนั้นมนุษย์ไม่สามารถแสดงออกได้ตามที่รับรู้มาได้ทั้งหมด แต่จะเลียนแบบพฤติกรรมแม่แบบที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่ตนเองมากกว่าการเลือกในทางที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองและจะประเมินคุณค่าของแม่แบบโดยการรับเอาสิ่งที่ตนพึงพอใจ ดังนั้นองค์ประกอบอีกประการหนึ่งของการใช้ตัวแบบต้องมีการจูงใจโดยการให้รางวัลหรือการเสริมแรงทางบวก เพื่อกระตุ้นให้ผู้สังเกตแสดงพฤติกรรมการเรียนแบบออกมาและเป็นการเสริมให้พฤติกรรมนั้นเกิดมากขึ้น

กระบวนการเรียนรู้จากแม่แบบ
          เกสสุรางค์ สักกะบูชา (2540: 912) สรุปกระบวนการเรียนรู้จากแม่แบบไว้ดังนี้
          ขั้นที่ 1 กระบวนการใส่ใจ (Attention process) บุคคลจะไม่เกิดการเรียนรู้หากขาดความใส่ใจ และขาดการรับรู้พฤติกรรมที่แม่แบบแสดงออก สิ่งที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการนี้คือ
                   1.1 ลักษณะเหตุการณ์ของแม่แบบ ซึ่งจะก่อให้เกิดความใส่ใจของผู้สังเกตได้ดีมีหลายประการ เช่น ความเด่น แม่แบบที่เด่นย่อมดึงดูดให้ผู้สังเกตใส่ใจมากกว่าแม่แบบที่ไม่เด่นความซับซ้อนผู้สังเกตจะมีความใส่ใจต่อเหตุการณ์ของแม่แบบที่มีความซับซ้อนมาก คำพูดยาวๆ จะมีความซับซ้อนเกินไปสำหรับเด็กเล็กๆ เขาจึงไม่ค่อยใส่ใจ ถ้าหากลดความยาวของคำพูดลงเด็กๆ ก็จะมีความใส่ใจมากขึ้น จำนวนแม่แบบในพฤติกรรมที่เป็นแม่แบบ ถ้ามีแม่แบบหลายๆ ตัว ย่อมเรียกร้องความสนใจ และก่อให้เกิด ความใส่ใจมากกว่าจำนวนแม่แบบน้อยๆ ความเกี่ยวข้องและการมีคุณค่า ปกติแล้วทุกคนจะใส่ใจแม่แบบ ที่เกี่ยวข้องและมีคุณค่ากับตนเองเสมอ
                   1.2 ตัวผู้สังเกต ลักษณะของผู้สังเกตที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการใส่ใจ ได้แก่
                             1.2.1 การรับรู้ ความสามารถในการรับรู้และประสบการณ์รับรู้ในอดีต ผู้ที่สามารถรับรู้ได้ดีย่อมมีแนวโน้มในการใส่ใจได้ดีกว่าผู้ที่มีการรับรู้ไม่ดี และประสบการณ์การรับรู้ในอดีตจะเป็นแนวให้ผู้สังเกตใส่ใจแม่แบบในแง่ใดแง่หนึ่ง และเป็นแนวทางในการแปลความจากการรับรู้นั้น
                             1.2.2 ระดับการตื่นตัว นักจิตวิทยาพบว่า ในขณะที่อยู่ในภาวการณ์ตื่นตัวระดับปานกลาง จะมีความใส่ใจต่อแบบดีกว่าในภาวการณ์ตื่นตัวต่ำ
                             1.2.3 ความรู้สึกชอบที่มีอยู่เดิม ถ้าผู้สังเกตมีความรู้สึกชอบแม่แบบใดแม่แบบหนึ่งอยู่ก่อน เขาก็จะมีความใส่ใจต่อสิ่งนั้นมาก
                             1.2.4 ทักษะการสังเกต ผู้สังเกตที่มีทักษะการสังเกตสูง และสามารถพิจารณารายละเอียดของแม่แบบได้ย่อมมีความใส่ใจในพฤติกรรมของแม่แบบมากกว่า ผู้สังเกตที่มีลักษณะการสังเกตต่ำ       ขั้นที่ 2 กระบวนการเก็บจำ (Retentional process) เป็นกระบวนการที่ผู้สังเกตรวบรวมข้อมูล รูปแบบพฤติกรรมของแม่แบบที่สังเกตแต่ละครั้งแล้วนำมาวางรูปแบบของพฤติกรรมที่เด่นชัดในรูปสัญลักษณ์ (symbolic coding) แทนกิจกรรมที่เลียนแบบ การเก็บตามในรูปสัญลักษณ์กระทำใน 2 ลักษณะ คือ การประมวลไว้ในลักษณะของมโนภาพ (imaginal coding) และในลักษณะของภาษา (verbal coding) การเก็บตามในรูปมโนภาพจะง่ายเมื่อมีสิ่งเร้า ( แม่แบบ) มาแสดงให้เห็นบ่อยๆ ส่วนการเก็บตามในรูปภาษาพัฒนาหลังจากมีมโนภาพและช่วยให้การเรียนรู้ประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้นเพราะสัญลักษณ์ในรูปภาษาสามารถให้ข้อมูลที่มากพอ และง่ายต่อการสะสมความรู้ที่ได้มาไว้ด้วย
          ขั้นที่ 3 กระบวนการแสดงออก (Reproductional process) เป็นกระบวนการที่ผู้สังเกตเปลี่ยนสัญลักษณ์ของการเก็บจำจากการสังเกตจากตัวแบบในรูปของความจำมาเป็นการกระทำหรือการแสดงออกที่เหมาะสมโดยการใช้กลไกของความคิด ผู้สังเกตจะแสดงพฤติกรรมได้ครบตามที่สังเกตจากตัวแบบหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความคิด และความซับซ้อนของพฤติกรรม
          ขั้นที่ 4 กระบวนการจูงใจ (Motivational process) บุคคลจะเลือกกระทำตามแม่แบบเมื่อการกระทำนั้นก่อให้เกิดผลดีตอบแทนมากกว่าพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดผลเสีย การประเมินคุณค่าของพฤติกรรมของแม่แบ่งโดยผู้สังเกตเป็นไปในรูปของการรับเอาสิ่งที่ตนพึงพอใจไว้ และไม่ยอมรับสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย

กลวิธีในการเรียนรู้จากตัวแบบ
          ในการนำทฤษฎีของแบนดูราไปใช้ เพื่อให้ผู้สังเกตเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นนั้น Blackman and Silberman (1975: 57) ได้สรุปการนำไปปฏิบัติดังนี้
          1. กำหนดพฤติกรรมที่ต้องการให้ผู้สังเกตเรียนรู้
          2. มีแบบซึ่งแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้ผู้สังเกตเรียนรู้อย่างเหมาะสม
          3. ให้แรงเสริมกับแม่แบบ เมื่อแม่แบบสามารถแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้ผู้สังเกตเรียนรู้ลักษณะของแม่แบบ

ข้อค้นพบจากการวิจัย
          จัดการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคแม่แบบ มีข้อค้นพบจากการวิจัยดังนี้
          1. พฤติกรรมก้าวร้าว Bandura, Ross and Ross (1963: 3) ได้ศึกษาผลของการใช้แม่แบบต่อการเรียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว โดยจัดแบ่งแม่แบบเป็น 3 ลักษณะ คือ แม่แบบที่เป็นจริง แม่แบบที่เป็นภาพยนตร์แสดงด้วยคนจริง และแม่แบบที่ทำเป็นภาพยนตร์การ์ตูน กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ผลการทดลองพบว่าเด็กที่ได้รับแม่แบบก้าวร้าวแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับแม่แบบไม่ค่อยมีพฤติกรรมก้าวร้าวปรากฏและแม่แบบที่เป็นภาพยนตร์มีผลต่อพฤติกรรมของผู้สังเกตทัดเทียมกับแม่แบบที่เป็นตัวจริง
          2. พฤติกรรมการแยกตนเอง O’Conner (1969) ได้ทดลองตัวแบบเพื่อเพิ่มพฤติกรรมการเข้ากลุ่มเพื่อนของเด็กชั้นประถมศึกษา ที่มีพฤติกรรมการแยกตัวออกจากเพื่อน พบว่ากลุ่มที่ได้ดูภาพยนตร์ตัวแบบมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเพิ่มขึ้นจาก 2 ครั้งใน 80 นาที เป็น 11 ครั้งใน 80 นาที และพบว่าบางคนเพิ่มขึ้นจาก 25 ครั้งใน 80 นาที ส่วนกลุ่มที่ดูภาพยนตร์เกี่ยวกับสัตว์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
          3. พฤติกรรมเอื้อเฟื้อ Midlarsky, Bryan & Brickman (1973: 321-328) ได้ศึกษาผลการใช้แม่แบบและรางวัลที่ผลต่อพฤติกรรมเอื้อเฟื้อ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียนหญิงเกรด 6 ใช้แม่แบบ 3 ลักษณะ คือ แบบเอื้อเฟื้อ แบบเป็นกลาง และแบบละโมบ การทดลองใช้การสร้างสถานการณ์ให้เล่นเกม ผลการทดลองพบว่า แม่แบบและรางวัลที่เป็นคำพูดยกย่องมีอิทธิพลต่อ การปลูกฝังให้เกิดพฤติกรรมเอื้อเฟื้อ สุณีน์ ชิ้นศักดิ์ชัย (2525: 33-35) ศึกษาการทดลองใช้หุ่นเชิดมือเป็นแม่แบบเพื่อพัฒนาจริยธรรมด้านความเอื้อเฟื้อ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยให้กลุ่มทดลองดูหุ่นเชิดมือสัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละ 1 เรื่อง เรื่องละประมาณ 10 นาทีจำนวน 5 เรื่องส่วนกลุ่มควบคุมให้นักเรียนรู้จากการสอนตามปกติ ผลจากการทดลองพบว่า คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
          4. ความกตัญญูกตเวที ศศิธร บรรลือสินธุ์ (2530: 46) ที่ศึกษาผลการใช้ตัวแบบที่มีคุณธรรมด้านความกตัญญูกตเวที ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า การสอนโดยใช้ตัวแบบเรื่องความกตัญญูกตเวทีทำให้นักเรียนมีคุณธรรมด้านความกตัญญูกตเวทีสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
          5. การพึ่งตนเอง รัตนา ภัทรธัญญา (2535: 48-49) ศึกษาผลของการใช้เทคนิคแม่แบบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มทดลองสอนโดยใช้เทคนิคแม่แบบที่มีตัวแบบมีพฤติกรรมแสดงถึงการพึ่งตนเองด้านการเรียนในรูปวีดีทัศน์ กลุ่มควบคุมใช้การสอนแบบปกติ หลังการทดลองพบว่า นักเรียนในกลุ่มทดลองมีการพึ่งตนเองด้านการเรียนสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และการสอนโดยใช้เทคนิคแม่แบบทำให้นักเรียนมีการพึ่งตนเองด้านการเรียนสูงกว่าการสอนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
          6. การกล้าแสดงออก วิไล พังสะอาด (2542: 45-46) ได้ศึกษาผลของการใช้บทบาทสมมติและการใช้เทคนิคแม่แบบที่มีต่อพฤติกรรมการกล้าแสดงออก ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า หลังจากการใช้บทบาทสมมติและการใช้เทคนิคแม่แบบ นักเรียนมีพฤติกรรมการกล้าแสดงออกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
          7. เหตุผลเชิงจริยธรรม วรวรรณินี ราชสงฆ์ (2541: 71) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้เทคนิคแม่แบบและการใช้บทบาทสมมติที่กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีการให้เหตุผลเชิงจริยธรรมต่ำ พบว่า นักเรียนมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมด้านความซื่อสัตย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
          8. มารยาทในชั้นเรียน วีระ อุตสาหะ (2534: 61-67) ได้ทำการทดลองโดยใช้เทคนิคแม่แบบโดยวีดีทัศน์เพื่อปรับปรุงพฤติกรรมมารยาทในชั้นเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีมารยาทไม่เหมาะสม กลุ่มทดลองสอนโดยใช้เทคนิคแม่แบบ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการสอนโดยข้อนิเทศ ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนกลุ่มทดลองมีมารยาทในชั้นเรียนดีขึ้นกว่าก่อนการทดลองและดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
          9. ความเสียสละ สุทธิชัย เดชสุวรรณนิธิ (2537: 197) ได้ทำการศึกษาผลของการใช้เทคนิคแม่แบบที่มีต่อความเสียสละของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มทดลองได้รับการใช้เทคนิคแม่แบบกลุ่มควบคุมได้รับการสอนแบบปกติ พบว่า นักเรียนที่ได้รับการใช้เทคนิคแม่แบบกับ การสอนปกติมีความเสียสละสูงขึ้นจากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนที่ได้รับการสอนเทคนิคแม่แบบมีความเสียสละสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

          สรุปได้ว่านวัตกรรมที่เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนเป็นกลุ่มเป็นนวัตกรรมที่ดีอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งผู้สนใจสามารถนำไปแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนของตนเองได้ แต่ต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในแนวคิดของการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนเป็นกลุ่มเพื่อให้สามารถใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับปัญหาในการจัดการเรียน การสอนและสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ได้จริง



          สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต (2543) ได้กล่าวว่า การใช้เทคนิคแม่แบบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยการสร้างหรือสอนพฤติกรรมให้แก่บุคคล โดยการเสนอตัวแบบให้บุคคลได้สังเกตตัวแบบ ซึ่งเป็นตัวแบบที่ผู้สังเกตให้ความสนใจและอยากทำตาม และเมื่อบุคคลแสดงพฤติกรรมตามตัวแบบแล้วได้รับการเสริมแรงทางบวกบุคคลจะแสดงพฤติกรรมนั้นบ่อยขึ้น



          สุภาพร ฉั่วพันธ์ (2554) ได้กล่าวว่า เทคนิคแม่แบบเป็นการเรียนรู้จากการสังเกต การกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางอ้อม โดยผู้เรียนจะสังเกตพฤติกรรมของตัวแบบและผลจากการสังเกตพฤติกรรมจากตัวแบบจะทำให้บุคคลนั้นเลียนแบบพฤติกรรมของตัวแบบหรือเกิดพฤติกรรมใหม่ที่พึงประสงค์ได้





สรุป
          จากการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคแม่แบบ (Modeling Technique) เป็นการเรียนรู้ที่จะช่วยการสร้างหรือสอนพฤติกรรมให้แก่บุคคล ซึ่งเกิดจากการสังเกต การกระทำของบุคคลอื่น เป็นการเรียนรู้ทางอ้อม โดยผู้เรียนจะสังเกตพฤติกรรมของตัวแบบ ซึ่งเป็นตัวแบบที่ผู้เรียนให้ความสนใจและอยากทำตาม จะทำให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมตามตัวแบบแล้วได้รับการเสริมแรงทางบวกบุคคลจะแสดงพฤติกรรมนั้นบ่อยขึ้น โดยมีกระบวนการเรียนรู้แม่แบบ มีดังนี้
          ขั้นที่ 1 กระบวนการใส่ใจ (Attention process)
          ขั้นที่ 2 กระบวนการเก็บจำ (Retentional process)
          ขั้นที่ 3 กระบวนการแสดงออก (Reproductional process)
          ขั้นที่ 4 กระบวนการจูงใจ (Motivational process)
และมีกลวิธีในการเรียนรู้ตัวแบบ ดังนี้
          1. กำหนดพฤติกรรมที่ต้องการให้ผู้สังเกตเรียนรู้
          2. มีแบบซึ่งแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้ผู้สังเกตเรียนรู้อย่างเหมาะสม
          3. ให้แรงเสริมกับแม่แบบ เมื่อแม่แบบสามารถแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้ผู้สังเกตเรียนรู้ลักษณะของแม่แบบ





ที่มา
ชัยวัฒน์ สุทธิรัตย์. (2553). 80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. กรุงเทพฯ : บริษัท 
          แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด.
สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. (2543). ทฤษฎีและการปรับพฤติกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงการณ์
          มหาวิทยาลัย
สุภาพร ฉั่วพันธ์. (2554). ผลของการใช้เทคนิคแม่แบบที่มีต่อมารยาทในการรับประทานอาหารของ
          นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสัตยาไส อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี. สารนิพนธ์
          ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

066Putita : นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ( http://oumi 024. blogspot.com/ 2009/08/ blog-post_ 21. html ) ได้รวบรวมไว้ว่า ความหมายขอ...